ชีวิตการทำงาน ของ ปรียา ฉิมโฉม

ภายหลังเมื่อ ได้มีการจัดตั้งกองผังเมืองเป็นหน่วยงานภายในกรมโยธาเทศบาล (ชื่อในขณะนั้น) นางปรียาได้ย้ายไปสังกัดและเริ่มทำงานด้านการผังเมืองโดยเฉพาะขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย และได้เลื่อนเป็นหัวหน้ากองผังเมืองในเวลาต่อมา และเมื่อแยกออกไปเป็นสำนักซึ่งเป็นกรมหนึ่งของกระทรวงมหาดไทย นางปรียาก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นรองผู้อำนวยการสำนักและต่อมาเลื่อนเป็นผู้อำนวยการสำนัก (เทียบเท่าอธิบดี) ที่เป็นสตรีเป็นคนแรก ดูแลด้านการผังเมืองและการจัดทำผังเมืองรวม

การศึกษาดูงานด้านการผังเมือง

เมื่อ พ.ศ. 2497 นางปรียา ฉิมโฉมได้มีโอกาสไปศึกษาดูงานด้านการผังเมืองเป็นครั้งแรกโดยทุนของกรมโยธาเทศบาล โดยได้ดูงานเมืองใหม่ที่อังกฤษและการการวางผังเมืองในยุโรปและอเมริกาเป็นเวลา 7 เดือน อีก 7 ปีต่อมาได้รับทุน USOM ไปดูงานในสหรัฐฯ เข้าฟังการเรียนด้านการผังเมืองในวิชาการใช้ที่ดินและการขนส่ง กฎหมายและการบริหารและการปฏิบัติวิชาชีพผังเมืองที่มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย จากนั้นได้เข้าฝึกงานในสำนักผังเมืองฟิลาเดลเฟีย สำนักงานอาคารสงเคราะห์และสำนักพัฒนาชุมชนแห่งฟิลาเดลเฟีย และได้รับประกาศนียบัตรรับรองผลสัมฤทธิ์ในการศึกษาและฝึกงานจากกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ นอกจากนี้ยังมีโอกาสดูวิธีการตัดสินแบบเกี่ยวกับการวางผังเมืองที่สถานบันแพรตต์ (แพรตต์อินสติตูต) ที่นิวยอร์ก และที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดอีกด้วย การศึกษาดูงานครั้งนี้มีความเข้มข้นและใช้เวลา 8 เดือน

นอกจากนี้ นางปรียายังได้ไปดูงานเกี่ยวกับกฎหมายอาคารชุดที่ฮาวาย ได้ดูงานสร้างเมืองใหม่ที่อังกฤษอีกครั้งหนึ่ง และได้พบปะเยี่ยมเยือนและดูงานจราจรในเยอรมันร่วมกับผู้เชี่ยวชาญเยอรมันที่มาช่วยเหลือประเทศไทยในขณะนั้น

บทบาทด้านการผังเมือง

ในฐานะนักผังเมืองและหัวหน้าหน่วยงาน นางปรียา ฉิมโฉมได้มีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้มีการออกพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518 ซึ่งเริ่มผลักดันมาตั้งแต่ พ.ศ. 2500 พระราชบัญญัติอาคารชุด และระเบียบข้อบังคับต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอีกมาก ได้มีโอกาสเดินทางไปพื้นที่ในประเทศและได้ไปดูงานด้านการผังเมืองต่างประเทศ รวมทั้งการถูกฟ้องร้องกับ ปปป. และการถวายฎีกาของประชาชนเกี่ยวกับการเวนคืนที่ดินเขตเพลิงใหม้ ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติที่มักพบบ่อยในงานวางผังเมือง

นอกจากนี้นางปรียา ยังได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้แทนรัฐบาลไปประชุมเกี่ยวกับการเจริญเติบโตของเมืองที่ฮาวาย สหรัฐฯ เมื่อ พ.ศ. 2510 เป็นผู้แทนกระทรวงมหาดไทยไปประชุมที่โตเกียวเพื่อร่วมพิจารณาผังแม่บทสถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้า ที่ลุมพินีวัน ซึ่ง เคนโซะ ตังเกะ สถาปนิกผู้โด่งดังของญี่ปุ่นเป็นผู้วางผังหลักเมื่อ พ.ศ. 2513 และที่ควรกล่าวถึงผลงานอีกชิ้นหนึ่งได้แก่การผลักดันถนนวงแหวนรอบในเป็นผลสำเร็จ นั่นคือถนนรัชดาภิเษกในปัจจุบันซึ่งต้องใช้ทั้งที่ดินการรถไฟและที่ดินเอกชน

ใกล้เคียง

ปรียาดา สิทธาไชย ปรียานุช ปานประดับ ปรียากานต์ ใจกันทะ ปรียา เกษมสันต์ ณ อยุธยา ปรียา รุ่งเรือง ปรียา ฉิมโฉม ปรียาภรณ์ อุปทินเกตุ ปรียานุช อาสนจินดา ปรีชา ชนะภัย ปรีชา จันทร์โอชา